ม.ราชภัฏนครสวรรค์ จัดพิธีถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกิจกรรมจิตอาสา เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จัดพิธีถวายชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (ในเมือง)

โดยศาสตราจารย์ ดร.สมยศ พลับเที่ยง รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ประธานในพิธี ถวายเครื่องราชสักการะ พุ่มเงิน พุ่มทอง และเปิดกรวยดอกไม้ จากนั้นคณะผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย พร้อมผู้นำนักศึกษา ถวายเครื่องราชสักการะ พุ่มเงิน พุ่มทอง ประธานในพิธีกล่าวถวายชัยมงคล วงดนตรีสาขาวิชาดนตรีศึกษา บรรเลงและขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีจอมราชา จากนั้นประธานในพิธีนำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ต่อด้วยการแสดงรำถวายพระพร โดยนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการดนตรีและศิลปะการแสดง และบรรเลงเพลงประกอบการแสดง โดยวงดนตรีไทย สาขาวิชาดนตรีศึกษา จากนั้นอธิการบดี คณะผู้บริหาร และผู้ร่วมพิธีร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคล เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อมาในเวลา 11.00 น. อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา ทำกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ร่วมกันทำความสะอาดบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495  ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง โดยทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" นับเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ต่อชาวราชภัฏทั่วประเทศ โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ.2521 ตราบถึงปัจจุบัน มีบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมากกว่า 2.4 ล้านคน

โดยภายหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาสให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2560 โอกาสนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

” ….. ข้าพเจ้าได้ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ทำให้รู้สึกมีความสุขและผูกพันกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหลายอย่างมาก ไปทุกครั้งก็มีความสุข อยากให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏของเรา เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค และท้องถิ่นจริง ๆ จัง ๆ ในเรื่องการดำรงชีวิต ในเรื่องความรู้ทั่วไป และข้อสำคัญคือผลิตคนดี ผลิตคนดีที่เห็นประโยชน์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสังคม คิดว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันที่เป็นประโยชน์และเป็นกลไกที่พัฒนาประเทศได้อย่างยิ่ง ถ้าหากตั้งใจ ร่วมกันและคุยกันมาก ๆ จะเป็นสถาบันหลักที่พัฒนาประเทศและประชาชนได้อย่างมาก…..”

นับเป็นพระบรมราโชบายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏน้อมนำมาปฏิบัติตาม โดยได้น้อมนำมาจัดทำ “ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ ตลอดจนพัฒนาครูและโรงเรียนให้มีคุณภาพ ตามพระราชดำริ “การศึกษาคือความมั่นคงของประเทศ” โดยเน้นด้านการพัฒนาท้องถิ่นเป็นพิเศษ ให้ทุกสถาบันทำงานเข้าถึงประชาชน พร้อมรับทราบปัญหาความต้องการ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางช่วยเหลือแก้ไข และปรับตัวให้เหมาะสมตามสภาพและประเพณีของท้องถิ่น

“มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ซึ่งตั้งครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ต่างดำเนินการตามยุทธศาสตร์และทำงานสนองพระบรมราโชบายอย่างเป็นรูปธรรม ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจได้สมบูรณ์ตามปณิธานของมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สมบูรณ์ ช่วยสร้างคุณค่าให้กับสังคมเป็นที่ประจักษ์ โดยมีมิติของมหาวิทยาลัยเพื่อพลังแผ่นดินในสามด้านคือ ท้องถิ่นมีพลัง ครูมีพลัง และคนมีพลัง”

นับเป็นการสนองพระบรมราโชบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด” แนวพระราชดำริต่าง ๆ ของ “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบไป

Share: